Free Grab Delivery Free Grab Delivery in BKK                     Star RatingStar RatingStar RatingStar RatingStar Rating 4.9/5 Based on 100+ Reviews                     Add us on LINE @bloom.asia (Mon-Sun, 10am - 7pm)

Free Grab DeliveryFree Grab Delivery in Bangkok

ชวนรู้จักสารในกัญชา.. สาร THC คืออะไร? ทำงานอย่างไร พร้อมข้อมูลที่คุณต้องรู้ก่อนใช้

เนื้อหา

THC คืออะไร และมีองค์ประกอบทางเคมีอย่างไรบ้าง

THC เป็นตัวย่อมาจากชื่อเต็มว่า delta-9-tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่พบได้มากในพืชกัญชา เป็นสารที่ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มมึนเมา หรือในศัพท์ชาวสายเขียวที่เรียกว่า “ไฮ” นั่นเอง ในเชิงเคมี สาร THC เป็นสาร cannabinoid ที่เป็นกลุ่มของสารประกอบซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับตัวรับในสมองและร่างกาย โครงสร้างทางเคมีของ THC มีสูตรโมเลกุลคือ C21H30O2 และมีน้ำหนักโมเลกุลอยู่ที่ 314.46 กรัม/โมล ลักษณะโครงสร้างเชิงเคมีจะมีลักษณะเป็นวงแหวนไซโคลเฮกซีนที่มีพันธะคู่ และโซ่ด้านข้างที่มีหมู่เมทิลที่อะตอมของคาร์บอนตัวที่ 3  โครงสร้างทางเคมีรูปแบบนี้จะไปจับกับตัวรับเฉพาะในสมองเท่านั้นและจะไปสร้างเอฟเฟกต์และผลลัพธ์ที่ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มมึนเมา

ปริมาณของ THC ในกัญชาอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกัญชาแต่ละสายพันธุ์ สภาพการปลูก และวิธีการแปรรูป แต่โดยทั่วไปแล้ว ความเข้มข้นของ THC ในกัญชาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 5-30%

สาร THC

ปฏิกิริยาของสาร THC ที่มีต่อร่างกาย

THC ในกัญชามีปฏิกิริยาโต้ตอบกับร่างกายโดยการไปจับและไปกระตุ้นที่ตัวรับเฉพาะในสมองและร่างกาย (ตัวรับเหล่านี้จะประกอบกันเป็นระบบที่เรียกว่าเอนโดแคนนาบินอยด์) โดยตัวรับสาร cannabinoid ในร่างกายหลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ตัวรับ CB1 และตัวรับ CB2

  • ตัวรับ CB1 ส่วนใหญ่พบในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อ THC ไปจับกับตัวรับ CB1 นี้ก็จะสามารถสร้างเอฟเฟกต์ได้หลากหลายอย่าง เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง ส่งผลถึงการรับรู้ และความอยากอาหารอาจเปลี่ยนไป โดยอาจจะรู้สึกหิวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจรู้สึกได้ว่าอาการปวดต่าง ๆ ก็เริ่มค่อย ๆ บรรเทาลงด้วย
  • ตัวรับ CB2 ส่วนใหญ่พบในระบบภูมิคุ้มกันและเนื้อเยื่อ เมื่อ THC จับกับตัวรับ CB2 นี้ก็จะสามารถสร้างเอฟเฟกต์ในการช่วยปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายและมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบได้

ความแตกต่างระหว่างสาร THC และสารอื่น ๆ ในกัญชา

CBD, CBN, CBG

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงสงสัยว่า THC จะมีความแตกต่างจากสารกัญชาอื่น ๆ เช่น สาร CBD, CBN และ CBG อย่างไร และมอบประโยชน์และเอฟเฟกต์ต่อร่างกายแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นเลย ต้องทราบกันก่อนว่า THC นั้นเป็นเพียงหนึ่งในสารกว่า 100 ชนิดที่พบได้ในกัญชา โดยสารแคนนาบินอยด์แต่ละชนิดจะมอบผลลัพธ์และเอฟเฟกต์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมอบคุณประโยชน์ที่มีความแตกต่างกัน โดยความแตกต่างระหว่างสาร THC กับสารอื่น ๆ สามารถสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • สาร CBD vs THC: สาร CBD (cannabidiol) แตกต่างจากสาร THC ตรงที่สาร CBD นั้นไม่ส่งผลต่อจิตประสาท และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มหรือ “ไฮ” แต่เชื่อกันว่ามอบคุณประโยชน์ด้านการรักษาหลายอย่าง เช่น ช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการวิตกกังวล และอาการชัก นอกจากนี้ CBD ยังช่วยบรรเทาเอฟเฟกต์ที่ไม่พึงประสงค์จากการรับ THC เข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย
  • สาร CBN vs THC: สาร CBN (cannabinol) เป็นสาร cannabinoid ที่เกิดจากการที่สาร THC ออกซิไดซ์เมื่อถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน เชื่อกันว่ามีผลในเรื่องของการกดประสาท จึงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังประสบกับปัญหานอนไม่หลับ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบได้ดี
  • สาร CBG vs THC: สาร CBG (cannabigerol) เป็นสาร cannabinoid ที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงมีประโยชน์ในการลดการอักเสบ บรรเทาความวิตกกังวล และลดความเจ็บปวดต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และอาจเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาในอาการต่าง ๆ เช่น โรคโครห์นและโรคต้อหิน เป็นต้น

THC ทำปฏิกิริยากับระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายอย่างไร

THC จะไปมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายมนุษย์เรา โดยหลัก ๆ แล้ว THC จะไปจับและไปกระตุ้นกับตัวรับจำเพาะที่พบได้ในสมองและร่างกาย 

ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์เป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยตัวรับเอนไซม์ และเอนโดแคนนาบินอยด์ (ทั้งสารแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายผลิต หรือสารที่ได้รับจากการใช้กัญชา) และมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยาในร่างกายมนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความอยากอาหาร ความรู้สึกเจ็บปวด การอักเสบ และการทำงานของภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ตัวรับ cannabinoid หลัก ๆ 2 ตัวในระบบ endocannabinoid คือ ตัวรับ CB1 และ CB2 ตัวรับ CB1 ส่วนใหญ่พบในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนตัวรับ CB2 ส่วนใหญ่พบในเซลล์ภูมิคุ้มกันและเนื้อเยื่อรอบข้าง เมื่อสาร THC เข้าสู่ร่างกาย มันจะจับกับตัวรับ CB1 ในสมอง ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่อจิตประสาท เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การรับรู้ และความอยากอาหาร นอกจากนี้ THC ยังมีศักยภาพในการไปปรับระบบสารสื่อประสาทอื่น ๆ ในสมอง เช่น ระบบโดปามีนและเซโรโทนิน

นอกจากปฏิกิริยาต่อตัวรับ CB1 แล้ว THC ยังสามารถไปจับกับตัวรับ CB2 ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกันและการป้องกันการอักเสบ THC จะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวรับ CB2 และมอบผลลัพธ์ในการต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้

ตัวรับ Endocannabinoid และเส้นทางการส่งสัญญาณ

อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ประกอบด้วยตัวรับหลัก 2 ตัว คือ ตัวรับ CB1 และ CB2 โดยตัวรับเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งในสมอง ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และอวัยวะต่าง ๆ

ตัวรับ CB1 ที่พบได้ในระบบประสาทส่วนกลางมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการปลดปล่อยสารสื่อประสาทและควบคุมสามารถในการปรับตัวของระบบประสาทต่าง ๆ เมื่อระบบนี้ถูกกระตุ้นให้เปิดการใช้งานโดยสารเอนโดแคนนาบินอยด์หรือไฟโตแคนนาบินอยด์ เช่น THC ตัวรับ CB1 นี้จะไปยับยั้งการปลดปล่อยสารสื่อประสาท เช่น กลูตาเมต กาบา และโดปามีน ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์และเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ต่ออารมณ์ ความรู้ความเข้าใจ และการทำงานของร่างกาย เป็นต้น

ส่วนตัวรับ CB2 ที่พบได้ในเซลล์ภูมิคุ้มกันและเนื้อเยื่อนั้นมีบทบาทในการลดการอักเสบและควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อถูกกระตุ้นให้เปิดการใช้งานโดยสารเอนโดแคนนาบินอยด์หรือไฟโตแคนนาบินอยด์ ตัวรับ CB2 นี้จะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน ทำให้เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของภูมิต้านทาน และอาการปวดเรื้อรัง เป็นต้น

การส่งสัญญาณของเอนโดแคนนาบินอยด์นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและการปล่อยเอนโดแคนนาบินอยด์ (แคนนาบินอยด์ที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ) เช่น อะนันดาไมด์และ 2-อาราชิโดนอยล์กลีเซอรอล (2-AG) ซึ่งจะไปจับและกระตุ้นตัวรับ CB1 และ CB2 เอ็นโดแคนนาบินอยด์จะถูกผลิตขึ้นเพื่อสนองความต้องการและตอบสนองต่อสัญญาณทางสรีรวิทยา เช่น ความเจ็บปวด ความเครียด หรือการอักเสบ และจะถูกสลายไปอย่างรวดเร็วโดยเอนไซม์เพื่อป้องกันการกระตุ้นของระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ที่มากเกินไป

ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ยังมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเส้นทางการส่งสัญญาณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบโอปิออยด์ ระบบโดปามีน และระบบเซโรโทนิน ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความเจ็บปวด และกระบวนการทางสรีรวิทยาอื่น ๆ

สาร THC มีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างไร

benefit of thc

THC หรือ tetrahydrocannabinol เป็นสาร cannabinoid ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มมึนเมาจนทำให้ถูกแบนในหลาย ๆ ประเทศ แต่จากการศึกษาวิจัยค้นพบว่า THC นั้นก็มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน ดังนี้

ลดอาการปวดเรื้อรัง

THC ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง จึงเป็นทางเลือกทางการแพทย์ในการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาการปวดเส้นประสาท โดยสาร THC ทำงานโดยการมีปฏิกิริยาต่อระบบเอนโดแคนนาบินอยด์และเส้นทางสัญญาณประสาทอื่น ๆ ในร่างกายเพื่อลดการอักเสบและความเจ็บปวด นอกจากนี้ THC ยังสามารถช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในการบรรเทาอาการปวดจากการใช้ cannabinoids อื่น ๆ เช่น สาร CBD ได้อีกด้วย

กระตุ้นความอยากอาหาร

THC ถูกใช้เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร และถูกใช้เป็นทางเลือกในการรักษาภาวะเบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดจากปัจจัยต่าง ๆ สาร THC ทำงานโดยการโต้ตอบกับระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ในสมองเพื่อเพิ่มความหิวและกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้บุคคลที่มีความผิดปกติในการทานอาหาร เช่น โรคคลั่งผอม สามารถทานอาหารได้มากขึ้น

บรรเทาอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า

สาร THC กลายมาเป็นตัวเลือกในการรักษาในผู้ที่มีความวิตกกังวลและผู้ที่กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้า โดยสาร THC จะไปทำปฏิกิริยาในการส่งสัญญาณประสาทเพื่อเพิ่มระดับความพร้อมของสารสื่อประสาท เช่น สารโดปามีนและเซโรโทนิน ซึ่งสารเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก นอกจากนี้ THC ยังอาจช่วยลดความวิตกกังวลได้โดยการมีปฏิกิริยาในสมองส่วนอะมิกดะลา ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการตอบสนองต่อความกลัวและความวิตกกังวล

ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

เราจะเห็นกันบ่อย ๆ ว่าศิลปินหรือนักดนตรีฝั่งตะวันตกมักจะสูบกัญชากันก่อนเล่นดนตรี หรือทำงานใด ๆ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์กัน นั่นเป็นเพราะว่า THC สามารถเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดและไอเดียต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ทำให้สามารถทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการใช้สาร THC

ชวนรู้จักสารในกัญชา.. สาร THC คืออะไร? ทำงานอย่างไร พร้อมข้อมูลที่คุณต้องรู้ก่อนใช้

ถึงแม้ว่า THC จะมอบคุณประโยชน์ต่อสุขภาพได้มากมาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการใช้ THC เพราะการใช้สาร THC อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง และหากใช้ในปริมาณที่สูงขึ้นก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้น โดยอาการและผลข้างเคียงหลังใช้สาร THC ที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้

ผลข้างเคียงระยะสั้น: ปากแห้ง ตาแห้ง การเคลื่อนไหวบกพร่อง

อาการปากแห้งเกิดขึ้นเมื่อ THC ทำปฏิกิริยากับต่อมน้ำลาย ทำให้การผลิตน้ำลายลดลง สามารถแก้ได้ด้วยการดื่มน้ำเยอะ ๆ ส่วนอาการตาแดงเกิดจากสาร THC ไปขยายหลอดเลือดในดวงตา ทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้นและทำให้ตาดูเป็นสีแดง แก้ได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา แต่สำหรับการเคลื่อนไหวที่บกพร่องนั้น สาร THC จะไปออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาท ทำให้ความสมดุลและการประสานงานของร่างกายทำได้ไม่ดี อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองหลังฤทธิ์ของ THC ในร่างกายเริ่มสลายไป

ผลข้างเคียงระยะยาว: ปัญหาระบบทางเดินหายใจ การเสพติด และปัญหาสุขภาพจิต

ผลข้างเคียงระยะสั้นของการใช้ THC นั้นไม่มีความรุนแรงและสามารถหายไปได้เอง แต่การใช้ THC ในปริมาณมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ สามารถไปเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากการสูบจะต้องผ่านความร้อนในการเผาไหม้กัญชาซึ่งอาจทำให้ปอดถูกทำลายและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในปอดได้ นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่การเสพติดในบางคนจนมีอาการถอนยาได้ เช่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ และเบื่ออาหารเมื่อหยุดใช้ 

การใช้ THC ในระยะยาวยังเสี่ยงที่จะไปเพิ่มปัญหาสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับสารชนิดนี้

ความเสี่ยงจากการใช้ขณะตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร

การใช้ THC ในระหว่างตั้งครรภ์และหรือในช่วงให้นมบุตรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสาร THC สามารถข้ามผ่านรกและส่งต่อไปยังทารกในครรภ์หรือผ่านน้ำนมของแม่ได้ การใช้ THC ในระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำหนักแรกเกิดของเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และอาจเป็นสาเหตุของปัญหาพัฒนาการทารกในครรภ์ได้ 

ส่วนการใช้ THC ในระหว่างการให้นมบุตรอาจนำไปสู่การสัมผัสสาร THC ในทารกผ่านน้ำนมแม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของสมองและนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญาและปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง

ผลกระทบจากการใช้สาร THC ก่อนหรือระหว่างขับรถ

การใช้ THC ก่อนหรือระหว่างขับรถเป็นสิ่งต้องห้ามที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งคัด เนื่องจาก THC จะไปลดความสามารถในการขับขี่และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การใช้ THC อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ การเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ตอบสนองได้ช้าลง และการรับรู้เวลาและระยะทางเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังอาจไปบั่นทอนวิจารณญาณและความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงหรือประมาทเลินเล่อบนท้องถนนได้

การศึกษาพบว่าการขับรถภายใต้ฤทธิ์ของ THC จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ขับขี่ที่ไม่มีประสบการณ์ ดังนั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือใช้งานเครื่องจักรหนักในขณะที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของกัญชา

วิธีใช้ THC อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ

การใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบควรเริ่มด้วยปริมาณความเข้มข้นของสารน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นหากต้องการ เนื่องจากสารอาจมอบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงในการใช้ปริมาณมาก ๆ นอกจากนี้ การใช้ THC ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบายจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความวิตกกังวลหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาได้

เคล็ดลับการใช้ THC อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

สำหรับการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพสูงสุดอาจต้องอาศัยเคล็ดลับและประสบการณ์เล็กน้อย แต่หากคุณผู้อ่านยังเป็นมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเคล็ดลับในการใช้กัญชาให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย สาามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านที่มีใบอนุญาต เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
  • เริ่มต้นด้วยปริมาณต่ำก่อนและค่อยเพิ่มปริมาณหากต้องการ แทนที่จะใช้จำนวนมากในคราวเดียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับสารอื่น ๆ เช่น แอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • ใช้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบายเพื่อป้องกันอาการหวาดระแวง
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่หรือใช้งานเครื่องจักรกลขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสาร
  • ปรึกษาแพทย์หากกำลังใช้ยาใด ๆ อยู่ เพราะอาจจำเป็นต้องปรับโดสยาหรือหยุดยาตัวใดตัวหนึ่ง
  • หยุดพักใช้บ้าง เพื่อป้องกันร่างกายคุ้นชินกับสาร

กฎหมายปัจจุบันว่าด้วยเรื่องสาร THC

THC and Legalization

การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก และปัจจุบันประเทศไทยเราก็ได้ผ่านกฎหมายปลดล็อกกัญชาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเทศไทยบ้านเรามีประวัติการใช้กัญชาเป็นยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน กระทั่งมีการออกกฎหมายห้ามใช้และครอบครองกัญชาอย่างเคร่งครัดภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดของประเทศ จนมาถึงปี 2018 ไทยเราได้กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำให้กัญชาทางการแพทย์ถูกกฎหมาย โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูก ขาย และครอบครองกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ 

กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีอาการป่วย เช่น มะเร็ง พาร์กินสัน และลมบ้าหมู สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้โดยมีใบสั่งยาจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์ที่มีใบอนุญาต ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำให้กัญชาทางการแพทย์ถูกกฎหมายในประเทศไทยถือเป็นก้าวสำคัญในการตระหนักถึงประโยชน์ด้านสุขภาพของพืชกัญชา และเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ความเป็นมาของกฎหมายห้ามใช้กัญชาและผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้น

การออกกฎหมายห้ามใช้กัญชามีประวัติศาสตร์ยาวนานและค่อนข้างซับซ้อน โดยส่วนใหญ่แล้วนั้นมักมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การเหยียดเชื้อชาติ และปัญหาด้านสาธารณสุข ต้นกำเนิดของการห้ามใช้กัญชาสืบย้อนไปได้ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อประเทศต่าง ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มออกกฎหมายให้การใช้และครอบครองกัญชาเป็นอาชญากรรม เนื่องจากความกังวลว่าการใช้กัญชาจะมีความเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมและการกระทำผิดต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เป็นผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านการใช้กัญชา โดยได้รับแรงหนุนจากภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ “Reefer Madness” และสร้างความหวาดกลัวต่อชาวเม็กซิกันและชุมชนคนผิวดำเพราะเพียงแค่คนชนชาติเหล่านี้ใช้กัญชา

เมื่อกาลเวลาผ่านไป กฎหมายการห้ามใช้กัญชาได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีหลายประเทศใช้บทลงโทษทางอาญาที่เข้มงวดสำหรับการใช้และครอบครองกัญชา แต่ผลกระทบของการห้ามใช้กัญชานั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยนักวิจารณ์ได้โต้แย้งว่าการห้ามใช้กัญชาต่างหากที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในชุมชนชายขอบ รวมทั้งคนผิวสีและกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และมีส่วนทำให้อาชญากรรมมีอัตราพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การทำให้กัญชาเป็นอาชญากรยังขัดขวางความตั้งใจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ และยังส่งผลต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาจากกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้ในเชิงสุขภาพด้วย

แรงขับเคลื่อนกัญชาถูกกฎหมาย ที่ไหนบ้าง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในการปฏิรูปกฎหมายกัญชา โดยหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มออกกฎหมายใหม่ให้กัญชาสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์หรือสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น แคนาดา อุรุกวัย และในหลาย ๆ รัฐในอเมริกา นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ จำนวนมากต่างก็ได้เริ่มทยอยลดทอนความเป็นอาชญากรรมในการครอบครองกัญชาลง หรืออย่างน้อยที่สุด คือ เริ่มออกกฎหมายให้สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้เท่านั้น

การทำให้กัญชาถูกกฎหมายส่งผลต่อวงการสาธารณสุขและเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยการทำให้กัญชาถูกกฎหมายสามารถลดอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับตลาดมืด สามารถสร้างรายได้จากภาษีให้กับรัฐบาล และสร้างการเข้าถึงการใช้กัญชาได้อย่างปลอดภัยและอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งถือว่าดีกว่าการห้ามใช้จนทำให้มีการขายกันในตลาดมืด ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยได้

ปัจจุบันการทำกัญชาให้ถูกกฎหมายยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าหลาย ๆ ประเทศเริ่มที่จะหันมาพิจารณาทำให้กัญชาถูกกฎหมายหรือลดทอนความเป็นอาชญากรรมลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ความท้าทายในกฎหมายกัญชาต่อสาธารณะ

เมื่อมีฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายกัญชา แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาด้วยเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา เช่น การเสพติด ปัญหาการใช้ก่อนหรือขณะขับรถ และปัญหาสุขภาพจิต จนทำให้มีการถกเถียงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการห้ามใช้กัญชาและการทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งเน้นย้ำถึงความซับซ้อนในหลายแง่มุมของนโยบายยาเสพติดในแต่ละประเทศ

การทำให้ THC ที่มีอยู่ในกัญชาถูกกฎหมายนั้นมาพร้อมกับความท้าทายและการโต้แย้งต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการรับรู้ของสาธารณะ เพราะยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน โดยหลายคนยังคงมีทัศนคติเชิงลบและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้กัญชา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เป็นการยากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของสาธารณชนไปสู่การสนับสนุนการใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย และยังเป็นการยากที่จะส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้กัญชาอีกด้วย

ปัจจุบัน แม้ว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายจะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมกัญชา แต่ก็ยังถือว่ามีความท้าทายในการสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมจะได้รับการควบคุมในลักษณะที่ส่งเสริมความปลอดภัย มีการควบคุมคุณภาพ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน บวกกับกฎหมายบ้านเราที่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่มั่นใจและยังไม่กล้ากระโดดเข้ามามีส่วนร่วมเล่นร่วมลงทุนในวงการนี้มากนัก

สำรวจตัวเลือกสินค้ากัญชา สินค้า THC พร้อมวิธีการใช้

How to Use THC

แม้กฎหมายกัญชายังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้กัญชาถูกกฎหมาย ไม่นานหลังจากนั้นเราก็มีโอกาสได้เห็นสินค้ากัญชาที่มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกัมมี่กัญชา คุกกี้กัญชา คราฟต์โซดาผสมกัญชา น้ำมันกัญชา รวมไปถึงสินค้าดูแลผิวพรรณที่มีส่วนผสมของสารกัญชา เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ทำให้เราได้เห็นสินค้าแปลกใหม่น่าสนใจในท้องตลาดได้เป็นอย่างดี

ของกินกัญชา

ของกินกัญชาเป็นตัวเลือกยอดฮิตสำหรับทุก ๆ คน เพราะของกินกัญชาในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ การกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา สารจะใช้เวลากว่าจะถูกเผาผลาญในตับ ทำให้ความรู้สึกเคลิบเคลิ้มอยู่ได้ยาวนานกว่าการสูบแบบธรรมดา โดยของกินกัญชาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังทานเข้าไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง และฤทธิ์จะอยู่ได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมงแล้วแต่บุคคล

น้ำมันกัญชา

น้ำมันกัญชา คือ สารสกัดกัญชารูปแบบของเหลวเข้มข้นที่สามารถใช้หยดใต้ลิ้นหรือเติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มได้  การใช้น้ำมันกัญชาควรเริ่มด้วยปริมาณน้อย ๆ และรออย่างน้อย 1 ชั่วโมง ผลลัพธ์จะสามารถรู้สึกได้ภายใน 15-45 นาที

น้ำมันกัญชาสามารถใช้อมใต้ลิ้นได้และจะดูดซึมผ่านเส้นเลือดในช่องปาก วิธีการใช้นี้ทำให้สามารถดูดซึมสารได้เร็วและร่างกายสามารถนำไปใช้ได้แม่นยำขึ้น 

การสูบหรือการใช้เครื่องเวเปอร์ไรเซอร์

การสูบจะช่วยให้สารออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และยังสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ง่าย แต่ทั้งนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการเผาไหม้ได้ สำหรับการใช้เครื่องเวเปอร์ไรเซอร์นั้นจะเป็นการใช้อุปกรณ์ซึ่งข้อดีคือสามารถควบคุมอุณหภูมิขณะสูบได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปอดมากนักเหมือนกับการสูบโดยทั่ว ๆ ไป

สาร THC ในกัญชาทำไมใช้แล้วติด

การใช้กัญชาอาจไม่ทำให้เสพติดทางร่างกายเท่ากับสารเสพติดอื่น ๆ แต่ก็สามารถนำไปสู่การพึ่งพาได้ การเสพติดของ THC ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความถี่และปริมาณการใช้ ตลอดจนความไวต่อสารของแต่ละคน

จากการศึกษาพบว่าการใช้กัญชาเป็นประจำสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่สมองตั้งไว้ต่อพฤติกรรมของมนุษย์เรา นั่นคือเงื่อนไขการให้รางวัลและแรงจูงใจซึ่งอาจนำไปสู่การเสพติด นอกจากนี้ อาการถอน เช่น อาการหงุดหงิด วิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับอาจเกิดขึ้นได้หลังหยุดใช้ ยิ่งเน้นย้ำว่ากัญชาสามารถทำให้ติดได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้กัญชาจะมีอาการเสพติดกัญชา และหลายคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ THC ได้โดยไม่มีปัญหา

ความหมายของการติดกัญชาคืออะไร

การเสพติดกัญชา หมายถึง พฤติกรรมที่มีปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มี THC  นำไปสู่การด้อยค่าหรือเกิดความทุกข์ทรมานในชีวิตของผู้ใช้ การเสพติดกัญชามีลักษณะเฉพาะ คือ มีความต้องการที่จะใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องแม้จะมีผลในทางลบต่อร่างกาย อีกทั้งยังยากต่อการควบคุมหรือลดการใช้ และมักจะมีอาการถอนเมื่อหยุดหรือลดการใช้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดกัญชา

การติดกัญชาเป็นหัวข้อที่ถูกถกเถียงซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดมากมาย หนึ่งในข้อถกเถียงที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเสพติดกัญชา คือ มันเสพติดได้จริงหรือไม่ บ้างก็ว่าการติดกัญชาไม่ใช่การเสพติดที่แท้จริงเพราะไม่มีอาการถอนทางร่างกายที่เหมือนกับยาเสพติดอื่น ๆ เช่น ฝิ่นหรือแอลกอฮอล์ แต่ความเข้าใจผิดนี้ก็ยังส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเสพติดกัญชาไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนกับการเสพติดสิ่งอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น แม้ว่าการเสพติดกัญชาอาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการเสพติดประเภทอื่น ๆ แต่ก็ยังสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายและการใช้ชีวิตของแต่ละคนได้ 

อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการรักษาความผิดปกติของการใช้กัญชา

ชวนรู้จักสารในกัญชา.. สาร THC คืออะไร? ทำงานอย่างไร พร้อมข้อมูลที่คุณต้องรู้ก่อนใช้

Cannabis Use Disorder (CUD) หรือความผิดปกติของการใช้กัญชา เป็นภาวะที่ผู้ป่วยประสบกับปัญหาการใช้กัญชาซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ รวมไปถึงหน้าที่การงาน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ได้แก่ การเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่อายุยังน้อย การใช้กัญชาบ่อย ๆ และมีประวัติครอบครัวใช้สารเสพติดผิดปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยและอาการทั่วไปของโรค

ตามเกณฑ์การวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ฉบับที่ 5 รูปแบบที่เป็นปัญหา คือ การใช้กัญชาซึ่งนำไปสู่ปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดความบกพร่องทางสังคม การงาน และการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ในการรับการวินิจฉัยความผิดปกติของการใช้กัญชา บุคคลต้องเข้าข่ายตามเกณฑ์ต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อภายในระยะเวลา 12 เดือน

  1. เสพกัญชาในปริมาณมากหรือนานกว่าที่ตั้งใจไว้
  2. มีความปรารถนาอย่างต่อเนื่อง หรือไม่สามารถลดหรือควบคุมการใช้กัญชาได้
  3. ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งกัญชา ใช้กัญชา หรือเพื่อฟื้นฟูจากผลข้างเคียงของมัน
  4. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะใช้กัญชา
  5. เกิดความล้มเหลวในการปฏิบัติตามภาระหน้าที่หลักในที่ทำงาน โรงเรียน หรือที่บ้าน
  6. ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นปัญหาทางสังคมหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างต่อเนื่องหรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ 
  7. ยกเลิกนัด กิจกรรมทางสังคม การงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อใช้หรือหลังจากใช้กัญชา 
  8. ใช้กัญชาในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  9. ใช้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรู้ว่ามีปัญหาทางร่างกายหรือจิตใจ
  10. ร่างกายเริ่มสามารถต้านทานปริมาณกัญชา ทำให้ต้องใช้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ
  11. มีอาการถอนเมื่อลดปริมาณหรือหยุดใช้

ปัจจัยเสี่ยง

มีหลายปัจจัยที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดกัญชาและการพึ่งพากัญชา เช่น

  • การใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อย: การใช้กัญชาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะก่อนอายุ 18 ปี จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการติดกัญชาและสารเสพติดอื่น ๆ ได้ในภายหลัง
  • ความถี่และปริมาณการใช้: ผู้ที่ใช้กัญชาบ่อย ๆ และในปริมาณมาก ๆ จะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การเสพติดได้
  • ปัญหาสุขภาพจิต: ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือ PTSD มีแนวโน้มที่จะใช้กัญชาเพื่อบำบัดอาการเหล่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเสพติดได้
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม: การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่การใช้กัญชาเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นที่ยอมรับของสังคมจะไปเพิ่มโอกาสในการเกิดการเสพติดได้
  • ปัจจัยส่วนบุคคล: ปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น ความเครียด ความบอบช้ำทางจิตใจ หรือการขาดการสนับสนุนจากหน่วยครอบครัวและสังคม

การบำบัดรักษา

ตัวเลือกการรักษาสำหรับความผิดปกติของการใช้กัญชา คือ การใช้ยา และการทำบำบัด เช่น กลุ่มบำบัด พฤติกรรมบำบัด การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) และการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ (MET) ซึ่งกลวิธีเหล่านี้มักใช้ในการบำบัดการติดกัญชาโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้บุคคลรู้จักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความเชื่อ และรูปแบบความคิดที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา

ตัวเลือกการรักษาความผิดปกติของการใช้กัญชานั้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ควรปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหยุดใช้กัญชา

เมื่อหยุดใช้กัญชาหรือ THC บางคนอาจเกิดอาการถอนได้ ซึ่งอาการถอนเหล่านี้ก็สามารถเกิดได้หลากหลายรูปแบบ และความรุนแรงก็มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและระยะเวลาของการใช้กัญชา

อาการเหล่านี้มักจะหนักสุดในช่วงสัปดาห์แรกหลังหยุดใช้กัญชา และอาจคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ บางคนอาจประสบปัญหาซึมเศร้าหรือไม่ค่อยมีสมาธิ ซึ่งก็อาจอยู่ได้นานหลายเดือน สิ่งสำคัญคือการถอนกัญชานั้นถือว่ารุนแรงน้อยกว่าการถอนยาอื่น ๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย การขอความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอาการถอนและช่วยการฟื้นตัวในระยะยาวได้

อาการทั่วไปของการถอนกัญชา

หลังจากหยุดใช้กัญชา อาจมีอาการถอน เช่น

  • หงุดหงิด: ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของการถอนกัญชา 
  • นอนไม่หลับ: การหนุดใช้กัญชาอาจส่งผลถึงวงจรการนอนหลับ ซึ่งนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ง่วงนอนตอนกลางวันได้
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป: เนื่องจากสาร THC ส่งผลต่อความอยากอาหาร ดังนั้น เมื่อหยุดใช้อาจทำให้ความอยากอาหารลดลงหรืออยากอาหารเพิ่มขึ้นแล้วแต่บุคคล
  • การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์: การถอนกัญชาอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย และกระสับกระส่าย
  • อาการทางร่างกาย: บางคนอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว เหงื่อออก หนาว ๆ ร้อน ๆ และคลื่นไส้

ความรุนแรงและระยะเวลาของอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความถี่และปริมาณของการใช้ THC ตลอดจนอัตราการดูดซึมและเผาผลาญ รวมไปถึงพันธุกรรมของแต่ละคน

ระยะเวลาและความรุนแรงของการถอน

ระยะเวลาและความรุนแรงของการถอน THC นั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความถี่และปริมาณของการใช้ ความแตกต่างในการเผาผลาญ และความอ่อนไหวต่อสารของแต่ละคน รวมไปถึงยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสุขภาพของแต่ละคนด้วย

โดยทั่วไป อาการถอนยาอาจเริ่มขึ้นภายใน 2-3 วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์หลังจากหยุดใช้ และอาจมีอาการยาวนานหลายสัปดาห์มากกว่านั้น

ความรุนแรงของการถอนอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง อาการที่พบบ่อยที่สุด เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า และความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาและความรุนแรงของการถอน เช่น วิธีการใช้ ภาวะสุขภาพจิตขณะและหลังใช้ รวมไปถึงประวัติการใช้สารเสพติดใด ๆ ก่อนหน้านี้อีกด้วย

การบำบัดรักษา

สำหรับการบำบัดรักษาอาการถอนกัญชาหรืออาการถอน THC สามารถทำได้ ดังนี้

  • การรักษาด้วยตนเอง: การรักษาด้วยตัวเองต้องอาศัยการฝึกนิสัยการดูแลตนเองที่ดีที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการถอนบางอย่าง เช่น การนอนหลับอย่างเพียงพอ ดื้มน้ำเยอะ ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การบำบัด: การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) เป็นการบำบัดประเภทหนึ่งที่พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะอาการถอนกัญชาได้ดี รวมถึงยังสามารถใช้ได้กับการถอนยาเสพติดชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
  • การใช้ยา: ในบางกรณีอาจมีแพทย์หรือนักบำบัดอาจมีการสั่งยาเพื่อช่วยจัดการกับอาการถอน ตัวอย่างเช่น ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาต้านความวิตกกังวลอาจใช้เพื่อรักษาความผิดปกติทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการถอนกัญชา เป็นต้น
ชวนรู้จักสารในกัญชา.. สาร THC คืออะไร? ทำงานอย่างไร พร้อมข้อมูลที่คุณต้องรู้ก่อนใช้

สรุป สาร THC คืออะไร ทำไมใช้แล้วเมา

THC เป็นสารประกอบในกัญชาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มมึนเมา โดยสารนี้จะไปทำปฏิกิริยากับระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายเพื่อสร้างผลลัพธ์และเอฟเฟกต์ต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด กระตุ้นความอยากอาหาร และช่วยให้นอนหลับได้ดี แม้ว่า THC จะมอบประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ก็ยังสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เป็นเวลานานหรืออย่างหนักหน่วง 

ในการใช้ THC อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบนั้นถือเป็นสิ่งที่ผ๔้ใช้กัญชาทุกคนควรตระหนักถึง สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจปริมาณการใช้ที่เหมาะสม วิธีใช้ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ การเสพติดและการถอนสาร THC ในกัญชายังเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากการทำให้กัญชาถูกกฎหมายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของกฎหมายกัญชา ตลอดจนความท้าทายเกี่ยวกับการใช้กัญชา และการทำให้ถูกกฎหมายอย่างครอบคลุมอีกด้วย

×