กัญชาไทยสติ๊ก คืออะไร พร้อมวิธีทำที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ไทยสติ๊ก (Thai stick) หรือในอีกหลาย ๆ ชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็นกัญชาเสียบไม้หรือกัญชาด้ายแดง ต่างก็สื่อถึงของเด็ดของดีที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเราสมัยก่อน ไทยสติ๊กเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นสมัยนั้น ปัจจุบันพืชกัญชาได้กลายมาเป็นพืชถูกกฎหมาย และคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่กัญชาไทยสติ๊กจะหวนกลับมาทวงคืนบัลลังก์แห่งวงการกัญชาไทย แต่การจะทำกัญชาไทยสติ๊กขึ้นมาให้ได้สักไม้ ต้องอาศัยทักษะและฝีมือ รวมไปถึงยังต้องอาศัยความอดทน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสตร์และศิลป์ที่น่าจับตามอง
จั่วหัวกันมาขนาดนี้ แน่นอนว่าในบทความนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องไทยสติ๊ก ซึ่งเราได้รวบรวมประวัติของไทยสติ๊ก และวิธีทำ มาให้คุณผู้อ่านได้อ่านกัน
ไทยสติ๊ก เป็นภูมิปัญญสเก่าแก่ดั้งเดิมที่เหล่านักดูดสมัยนั้นคิดค้นขึ้นมาเพื่อเพลิดเพลินกับการใช้พืชกัญชา วิธีการคือผสมดอกกัญชา น้ำมันแฮช หรือน้ำมันกัญชา หรือน้ำผสมน้ำตาล และเสียบเข้ากับแท่งไม้ไผ่ จากนั้นบ่มและม้วนด้วยเชือกป่านเพื่อให้เข้าที่และจับตัวกันเป็นแท่ง แล้วนำไปเสียบกับไม้ นำไปห่อด้วยใบกัญชา จะได้ไทยสติ๊กที่มีลักษณะคล้ายซิการ์… การบ่มถือเป็นกระบวนการสำคัญในการกำจัดความชื้น ช่วยให้ดอกกัญชาแข็งตัวและปล่อยรสชาติออกมา
ไทยสติ๊ก – ซิการ์กัญชาสูตรดั้งเดิม
ซิการ์กัญชาหรือ cannagars (แคนนาการ์) ค่อนข้างมีชื่อเสียงในประเทศฝั่งตะวันตก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเจ้าซิการ์กัญชาที่ว่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไทยสติ๊ก กัญชาเสียบไม้ในบ้านเรานั่นเอง ในซิการ์กัญชาจะมีส่วนประกอบของช่อดอกกัญชา กลิ่น เรซิน น้ำมันแฮช แล้วม้วนด้วยใบกัญชา ไม่ได้ใช้กระดาษมวนเหมือนที่เรา ๆ ในยุคนี้ใช้กัน ซิการ์กัญชาเหล่านี้จะทำให้รู้สึกมึนเมามาก และอยู่ใช้ได้ค่อนข้างนาน
ไทยสติ๊กถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่มีบทบาทต่อซิการ์กัญชายุคใหม่ แน่นอนว่าการผลิตซิการ์กัญชาในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงกระบวนการให้เหมาะสมกับยุคสมัยและความต้องการของผู้ใช้ แต่ไทยสติ๊กสูตรดั้งเดิมของเราก็ยังคงเป็นที่พูดถึงและกล่าวขานว่าเป็นตำนานแห่งวงการกัญชาอยู่เสมอมา
ประวัติไทยสติ๊ก
ไม่มีใครรู้ว่าไทยสติ๊กมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และถูกใช้กันมายาวนานแค่ไหน รู้เพียงแค่ว่าภูมิปัญญานี้มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ภูเขาของไทย ทั้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงบริเวณประเทศลาว และเรา ๆ ส่วนใหญ่ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ากัญชานั้นเป็นพืชที่แพร่หลายมากในประเทศไทย ตั้งแต่มีการนำเข้ามาจากอินเดียเมื่อหลายศตวรรษก่อน ดังนั้น จึงสรุปได้อย่างสมเหตุสมผลว่าชาวเขาในภูมิภาคดังกล่าวข้างต้นเป็นผู้ทำการประดิษฐ์คิดค้นไทยสติ๊กเพื่อเพิ่มอรรถรสในการใช้กัญชามาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว
วิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวเขาไทยต่างคุ้นเคยกับการดัดแปลงวิธีการใช้กัญชาจนเกิดภูมิปัญญาใหม่ ๆ และอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่น่าทึ่ง ต้องยกให้ “บ้องกัญชา” ซึ่งคำว่าบ้องนี้มาจากคำเพี้ยนว่า “บวง” ซึ่งแปลว่ากระบอกไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับสูบกัญชานั่นเอง
กลับมาที่ไทยสติ๊กของเรากันบ้าง แม้ว่าการใช้ไทยสติ๊กจะเป็นอะไรที่ดูธรรมดา ไม่แปลกใหม่อะไรในหมู่ผู้ใช้กัญชาท้องถิ่น แต่สำหรับชาวอเมริกันนั้นเรียกได้ว่าไทยสติ๊กของบ้านเราเป็นอะไรที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยในปี 1970 ช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ ซึ่งระหว่างนั้นเหล่าทหารอเมริกันก็ได้มีโอกาสรู้จักกับกัญชาท้องถิ่น รวมไปถึงได้ลิ้มลองไทยสติ๊กกันอย่างถ้วนหน้า
ก่อนที่ใคร ๆ ในบ้านเราจะรู้ตัว เหล่าทหารอเมริกันเหล่านี้ก็ได้นำไทยสติ๊กกลับไปเผยแพร่ให้ชาวอเมริกันทั่วประเทศได้ลิ้มลองภูมิปัญญาการใช้กัญชาที่น่าทึ่งของไทยเรา
หลังจากที่ชาวอเมริกันได้ลิ้มลองไทยสติ๊กกันไปแล้ว เจ้าสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ไม่น่าเชื่อว่าชาวไทยภูเขากลับมีความรู้ด้านกัญชาที่เหนือกว่าเกษตรกรชาวอเมริกันโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีใด ๆ เพราะกัญชาจากทางภาคเหนือของไทยเราใช้วิธีปลูกและเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิม
แต่หากจะมาพูดกันถึงเรื่องเม็ดเงิน… อะไรที่ขายได้ในบ้านเราเป็นเงินเพียงแค่ 100-200 บาท กลับสามารถทำเงินได้หลักแสนในอเมริกายุคนั้น และมีการลักลอบส่งออกต้นกัญชาไปยังอเมริกากันเป็นตัน ๆ ในช่วงปี 1968-1972
ยุคแห่งความเฟื่องฟูได้มอดดับลงหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามไม่นาน ประกอบกับการปราบปรามกัญชาของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งสนับสนุนโดยสหรัฐฯ เป็นผลให้ไทยสติ๊กได้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่และหายากในทุกพื้นที่บนโลกในยุคนี้ และปัจจุบันไทยสติ๊กก็ค่อย ๆ จางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กัญชาไทยอย่างช้า ๆ
วิธีทำไทยสติ๊ก
สิ่งที่ทำให้ไทยสติ๊กมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าที่ไหน ๆ คือ วิธีการเตรียม หลายคนเชื่อว่ามีการเติมฝิ่นลงไปในช่วงที่ไทยสติ๊กกำลังเป็นที่นิยม บางคนก็ว่ามีการใส่น้ำมันแฮช เรซิ่น และกัญชาลงไป และยิ่งบ่มนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น
หากอยากลองทำไทยสติ๊กเอง ให้ยิ้มรอไว้ได้เลย เพราะวิธีการทำนั้นไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลา สำหรับอุปกรณ์และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- กัญชาสายพันธุ์ที่ชอบ (แนะนำให้ลองดูในร้านขายกัญชาออนไลน์ของเรา)
- ไม้ไผ่สำหรับเสียบ หรือตะเกียบก็ได้
- น้ำมันแฮช หรือน้ำมันกัญชา หรือน้ำผสมน้ำตาล (เราแนะนำให้ใช้น้ำผสมน้ำตาล เนื่องจากข้อกฎหมายในบ้านเราที่ความเข้มข้นของสาร THC ไม่ควรเกิน 0.2%)
- กระดาษรองอบ
- ใบกัญชา
- เชือกป่าน
การบ่มนั้น แน่นอนว่ามีวิธีลัดที่จะทำให้ได้ไทยสติ๊กในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทั้งนี้ ไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดเท่ากับการบ่มแบบดั้งเดิมอีกแล้ว
การบ่มกัญชาจะช่วยป้องกันไม่ให้วัตถุดิบต่าง ๆ ข้างในเน่าเสียหรือเกิดการสลายตัว ช่อดอกกัญชาและใบกัญชาจะต้องถูกทำให้แห้ง เพื่อให้สารสกัดกัญชา สารแคนนาบินอยด์ และเทอร์พีนต่าง ๆ ถูกขับออกมา (เทอร์พีนช่วยเสริมฤทธิ์ให้สารกัญชาต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น) การบ่มยังช่วยให้ได้กลิ่นและรสที่ดี มอบประสบการณ์การสูบที่ยอดเยี่ยม ซึ่งหากไม่บ่มให้ดี ไทยสติ๊กที่ได้จะไม่ค่อยมอบรสชาติและกลิ่นที่ดีเท่าที่มันควรจะเป็น
ขั้นตอนการทำไทยสติ๊ก
- เลือกช่อดอกกัญชาตูม ๆ ที่ดูฟูที่สุด เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นที่ดีที่สุด
- เคลือบไม้เสียบหรือไม้ไผ่ด้วยน้ำมันแฮช หรือน้ำผสมน้ำตาล หรือน้ำมันกัญชาเข้มข้น เพื่อให้กัญชาเกาะติดกับไม้เสียบได้ดี
- นำช่อดอกกัญชาที่เตรียมไว้มาเสียบบนไม้ให้แน่นที่สุดไม่ให้มีช่องว่างด้านใน อาจต้องกดให้แน่น ๆ หน่อย เพราะเมื่อเวลาดึงไม้ออก จะได้ไม่มีช่องว่างใด ๆ
- ห่อแท่งไทยสติ๊กด้วยเชือกป่าน พันแน่น ๆ เยอะ ๆ แบบไม่ต้องเสียดาย จะได้ไทยสติ๊กที่เป็นแท่ง ๆ ดูให้ความหนาเท่ากันตลอดทั้งแท่ง
การบ่ม: ระยะ 1
- วางไทยสติ๊กลงบนกระดาษรองอบ แล้วนำไปแช่ตู้เย็นเป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยให้ไทยสติ๊กเป็นรูปเป็นร่าง ดอกกัญชาด้านในที่ใส่ไปจะแข็งตัวและติดแน่นกับไม้มากขึ้น
- ค่อย ๆ แกะเชือกป่านกัญชงออก ดอกกัญชาจะร่วงออกมาหากใช้น้ำมันกัญชาหรือน้ำผสมน้ำตาน้อยเกินไป หรือหากใส่ดอกกัญชาน้อยเกินไปจะเห็นเป็นช่องว่าง ๆ บนแท่งไม้
- เคลือบกัญชาด้วยน้ำมันแฮช หรือน้ำมันกัญชา หรือน้ำผสมน้ำตาล (เราแนะนำให้ใช้น้ำผสมน้ำตาล เนื่องจากข้อกฎหมายในบ้านเราที่ความเข้มข้นของสาร THC ไม่ควรเกิน 0.2%) จากนั้นห่อด้วยใบกัญชา
การบ่ม: ระยะ 2
- เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีบ่มแบบดั้งเดิม คือ การห่อด้วยใบกัญชาทับอีกรอบบนเชือกป่าน แล้วนำไปแช่ตู้เย็นอีก 24 ชั่วโมง โดยต้องทำขั้นตอนนี้ซ้ำ ๆ กับทุกชั้นของการห่อด้วยใบกัญชา (โดยทั่ว ๆ ไปจะทำ 3 ชั้น) หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง ให้ดึงเชือกป่านออก เคลือบแท่งไม้ด้วยน้ำมันแฮช หรือน้ำมันกัญชา หรือน้ำผสมน้ำตาลอีกชั้น ห่อด้วยใบกัญชาแล้วนำกลับไปตู้เย็นอีกครั้ง ทำซ้ำจนครบ 3 ชั้น (ระยะเวลาการบ่มทั้งหมด 72 ชั่วโมง)
- แต่หากไม่อยากทำตามสูตรดั้งเดิม สามารถข้ามการบ่มทีละชั้นแล้วทำในครั้งเดียวไปเลย แต่ทั้งนี้ ผลลัพธ์และประสบการณ์การใช้อาจไม่ดีเท่ากับการบ่มแบบดั้งเดิม
- เมื่อทำครบ 3 ชั้นแล้ว ให้ห่อด้วยกระดาษรองอบ แล้วนำไปตั้งไฟบนกระทะสัก 2-3 วินาที เพื่อให้น้ำมันแฮช หรือน้ำมันกัญชา หรือน้ำผสมน้ำตาลกระจายตัวอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการผนึกวัตถุดิบทั้งหมดให้ติดกันเป็นก้อนแท่งบนไม้ด้วย
การบ่ม: ระยะ 3
- การบ่มระยะสุดท้ายสูตรดั้งเดิมคือการนำไปบ่มไว้ที่ใต้ดินเป็นเวลา 1 เดือน หรือหากไม่สะดวกนำไปบ่มใต้ดิน ก็สามารถใส่ในถุงที่ปิดสนิทแล้วเก็บไว้ในตู้หรือลิ้นชักได้
- อีกหนึ่งวิธีคือการใส่ไทยสติ๊กลงไปในถุงซิปล็อกแล้วนำไปแช่ตู่เย็นประมาณ 2-3 วัน
- แต่ทั้งนี้ ไทยสติ๊กสามารถใช้ได้หลังจากนำไปตั้งไปบนกระทะ แต่ประสบการณ์และความรู้สึกที่ได้จะยังเทียบเท่ากับตอนที่บ่มเสร็จเรียบร้อยแล้วไม่ได้เลย
วิธีสูบไทยสติ๊ก
วิธีสูบไทยสติ๊ก ให้ค่อย ๆ แก้เชือกป่านออกและดึงแท่งไม้ตรงกลางออก จากนั้นสูบเหมือนใช้กัญชาทั่วไปได้เลย
เพื่อให้ได้ไทยสติ๊กคุณภาพคับแก้ว ลองเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังต่อไปนี้
- ปริมาณกัญชาที่เหมาะสมต่อการใช้ทำไทยสติ๊ก 1 แท่ง คือ ประมาณ 1-2 กรัม สายพันธุ์กัญชาที่เลือกใช้ก็ส่งผลต่อประสบการณ์ในการใช้ สามารถเลือกกัญชาสายพันธุ์โปรด หรือจะผสมกัญชาสัก 2-3 สายพันธุ์ลงไปก็ได้
- ระยะเวลาการบ่มมีความสำคัญต่อคุณภาพของไทยสติ๊ก หากมีความอดทนรอไหว รับรองว่าผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้คุณติดใจ หากคุณอยากรู้ว่าคุณภาพของไทยสติ๊กแตกต่างกันอย่างไรในระยะการบ่มต่าง ๆ แนะนำให้ทดสอบหลังนำไปตั้งไปบนกระทะแล้ว คือ ไม้แรกให้ลองใช้ทันที ไม้ที่สองใช้หลังบ่มในตู้เย็น และอันสุดท้ายใช้หลังบ่มใต้ดิน
- การใช้น้ำมันแฮชจะช่วยให้ได้รับประสบการณ์จากสารในกัญชาอย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ยังแว็กซ์กัญชาหรือแว็กซ์คีฟก็สามารถนำมาเคลือบที่ด้านนอกได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความเข้มข้นและความแรงของมันด้วย
สรุป
ไทยสติ๊กพร้อมแล้วที่จะกลับมาทวงบัลลังก์แห่งความยิ่งใหญ่หลังกัญชาถูกกฎหมายในประเทศไทย ภูมิปัญญานี้ยังคงอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ยังคงต้องการการฟื้นฟูและสนับสนุนส่งเสริม ทั้งนี้ ไทยสติ๊กสามารถทำได้เองจากที่บ้าน ไทยสติ๊กนั้นค่อนข้างมีความเข้มข้น แนะนำให้ใช้อย่างใส่ใจและตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา
เราสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่และนำผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยมีให้มาให้คุณ